เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยและอธิบดีกรมการกงสุลและการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร เข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยและอธิบดีกรมการกงสุลและการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร เข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 พ.ค. 2567

| 886 view

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 เวลา 14.00 น. นายมาร์ก กุดดิง (H.E. Mr. Mark Gooding) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และนางเจนนิเฟอร์ แอนเดอร์สัน (H.E. Ms. Jennifer Anderson) อธิบดีกรมการกงสุลและการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร ได้เข้าพบหารือนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีนางอรวิจิตร์ จันทรังสี หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ มีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ จากฝ่ายไทยเข้าร่วม ได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต และหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และฝ่ายสหราชอาณาจักรมีนาง Chantal Fernandes กงสุลกิตติมศักดิ์สหราชอาณาจักรประจำจังหวัดภูเก็ต นาง Joanne Lynn Finnamore-Crorkin กงสุล และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่ การดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุทางถนนจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และความปลอดภัยทางน้ำ รวมถึงการพัฒนาแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างจังหวัดภูเก็ตและรัฐบาลสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันในความร่วมมือในทุกด้านระหว่างกัน

 

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร เข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเป็นอันดับที่ 4 (รองจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และอินเดีย) โดยจากข้อมูลพบว่านักท่องเที่ยวชาวบริติชมีการกระทำผิดกฎหมายในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนน้อยมาก ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการประชุมร่วมกับกงสุลและกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้ง 28 แห่งในจังหวัดภูเก็ตเป็นประจำทุก 2 เดือน โดยเน้นการขอความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและเคารพประเพณีวัฒนธรรมของไทยและจังหวัดภูเก็ต

 

ในส่วนของการดูแลนักท่องเที่ยวและประชาชน ถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกที่จังหวัดภูเก็ตให้ความสำคัญ โดยต้องการสร้างความปลอดภัยทั้งให้แก่ทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตทุกคน ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ (1) ทางบก ซึ่งนักท่องเที่ยวจะนิยมมาเช่ารถจักรยานยนต์ขับขี่เองในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้กำชับให้ผู้ประกอบการจะต้องดูเรื่องเอกสารใบขับขี่และให้ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางถนนของจังหวัดภูเก็ตที่มีความคดเคี้ยวและลาดชันเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบและได้ปฏิบัติตามกฎจราจรของไทย โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย (2) ทางน้ำ มีการซ้อมแผนการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวโดยมีนายกรัฐมนตรี คณะกงสุลและกงสุลกิตติมสักดิ์เข้าร่วมชมการฝึกซ้อม และการมีไลฟ์การ์ดประจำการปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายหาดซึ่งแบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 8 ชั่วโมง รวมถึงมีการปักธงแดงในพื้นที่ที่คลื่นลมรุนแรง ซึ่งยังมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ฝ่าฝืนคำสั่งทำให้เกิดอุบัติเหตุและจมน้ำเสียชีวิต และ (3) ทางอากาศ จะมีกรณีการเล่นกีฬาเรือลากร่ม ซึ่งได้มีการตั้งเป็นสมาคมเข้ามาดูแลเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลักการรักษาความปลอดภัยและระบบการรักษาความปลอดภัย

 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการกงสุลฯ เน้นย้ำว่า ภารกิจของการการกงสุลและการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร นอกจากจะดูแลชาวบริติชที่อยู่ในต่างประเทศทั่วโลกในยามปกติแล้ว สิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ การเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ โดยจะต้องทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต เพื่อดูแลคนชาติ ทั้งนี้ ใน จังหวัดภูเก็ต ก็เคยมีประสบการณ์เผชิญภัยพิบัติขนาดใหญ่ ได้แก่ เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แจ้งว่า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรับมือกับภัยพิบัติอย่างยิ่ง ปัจจุบัน มีหอคอยแจ้งเตือนสึนามิและแผ่นดินไหวอยู่ 19 แห่ง ใน 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ ในทุก ๆ ปี จังหวัดภูเก็ตจะจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเลด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ