รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธานเปิดโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักแปลเพื่อการนิติกรณ์เอกสาร ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธานเปิดโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักแปลเพื่อการนิติกรณ์เอกสาร ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ก.ย. 2566

| 1,615 view
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการกงสุล เป็นประธานเปิดโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักแปลเพื่อการนิติกรณ์เอกสาร ร่วมกับ รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และ ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแปลที่เป็นผู้แปลเอกสารทั่วไปและเพื่อการนิติกรณ์เอกสาร จำนวนรวมทั้งสิ้น 100 คน
 
โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพการแปลเอกสารของนักแปลที่ดำเนินการด้านการแปลในงานที่ยื่นขอนิติกรณ์เอกสาร ซึ่งจะเป็นการเสริมประสิทธิภาพการบริการนิติกรณ์เอกสารให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายเกี่ยวกับการนิติกรณ์เอกสารและการตรวจแปลโดยวิทยากรจากกองสัญชาติและนิติกรณ์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมทดลองแปลเอกสารและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการแปลในช่วงบ่าย

ในโอกาสนี้ รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนในการส่งเสริมมาตรฐานการแปลให้มีความเป็นสากล เนื่องจากการแปลเอกสารเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการใช้เอกสารระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับเอกสารระหว่างหน่วยงานต้นทางและปลายทาง การแปลที่ถูกต้องและมีมาตรฐานจึงจะช่วยลดระยะเวลาและภาระด้านค่าใช้จ่ายของประชาชน ปัจจุบัน กรมการกงสุลได้พัฒนาระบบการนิติกรณ์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Legalization) โดยใช้ e-Signature และ QR Code เพื่อป้องกันการปลอมแปลง นอกจากนี้ กรมการกงสุลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเตรียมการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกข้อกำหนดของการนิติกรณ์สำหรับเอกสารมหาชนจากต่างประเทศ หรือ Apostille Convention ซึ่งการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
 
ดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการนิติกรณ์เอกสารในรูปแบบปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและใช้เวลานาน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัลยิ่งขึ้น รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเสริมว่าคณะอักษรศาสตร์ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา โดยทักษะดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คณะอักษรศาสตร์มีความยินดีสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของงานแปลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ