คนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว 10 ปี (Long Stay O-X)

คนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว 10 ปี (Long Stay O-X)

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 132,628 view
✈ คุณสมบัติ

การตรวจลงตราสำหรับคนต่างชาติซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการพักผ่อนต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

• คนต่างด้าวทุกสัญชาติ อายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (นับถึงวันยื่นคำร้อง)

• มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของประเทศต่อไปนี้

สหราชอาณาจักร
ออสเตรเลีย
เดนมาร์ก
ฟินแลนด์
ฝรั่งเศส
สหรัฐอเมริกา
อิตาลี
นอร์เวย์
สวีเดน
ญี่ปุ่น
แคนาดา
เยอรมนี
เนเธอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์

• หลักเกณฑ์ทางการเงิน
   (ก) มีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือ
   (ข) มีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทและมีรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยภายใน 1 ปี จะต้องมีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
ให้คงเงินในหัวข้อ (ก) หรือ (ข) เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถอนเงินนั้นได้ทั้งนี้ จะต้องมีเงินฝากเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งการถอนเงินฝากจะถอนได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะและการศึกษาของบุตร ในประเทศไทยเท่านั้น

• ไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือประเทศที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร

• ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โทษ โรคซิฟิลิส ระยะที่ 3

• มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร โดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งผู้ประสงค์ที่จะขอรับการตรวจลงตราสามารถหาข้อมูล และซื้อกรมธรรม์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ longstay.tgia.org

• คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวรหัส “O-X” (Non – O – X) เพื่อติดตามเข้ามาพำนักระยะยาวได้ ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non O-X ทำงาน เว้นแต่เป็นการทำงานอาสาสมัครตามรายชื่องานที่เข้าข่ายเป็นงานอาสาสมัครของกรมจัดหางาน (อยู่ในระหว่างการจัดทำ)

อายุวีซ่า

5 + 5 ปี (Multiple Entries)

ค่าธรรมเนียม

10,000 บาท

สถานที่ยื่นคำร้อง

ยื่นคำร้องในประเทศไทย : สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ยื่นคำร้องในต่างประเทศ : สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ ในประเทศของตน หรือที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร หรือที่มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศของตนเท่านั้น

เอกสารประกอบการพิจารณา

• หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้ได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

• แบบฟอร์มการขอรับการตรวจลงตรา (พร้อมรูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซม. ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 3 ชุด

• แบบฟอร์มประวัติส่วนตัว จำนวน 1 ชุด

• หลักฐานด้านการเงิน (เลือกข้อใดข้อหนึ่ง)
   1. หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
   2. หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคารสำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และหนังสือรับรองรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว จะต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี

• เอกสารหรือหลักฐานรับรองความประพฤติ หรือหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรมจากประเทศที่คนต่างด้าวถือสัญชาติและหากคนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศอื่น ต้องมีเอกสารดังกล่าวจากประเทศที่คนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรด้วย

• ใบรับรองแพทย์จากประเทศที่ยื่นคำร้องที่แสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ได้แก่ โรคเรื้อน (Leprosy) วัณโรคในระยะอันตราย (Tuberculosis) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) โรคยาเสพติดให้โทษ (drug addiction) และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (third stage of Syphilis) ทั้งนี้ ใบรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือน

• สำเนาหลักฐานการมีประกันภัย (ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด) และกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทย โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับค่าพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และในกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งผู้ประสงค์ที่จะขอรับการตรวจลงตราสามารถศึกษาและซื้อกรมกธรรม์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ longstay.tgia.org

คู่สมรส ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่จำกัดอายุ) ที่มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของ 14 ประเทศข้างต้น ให้ผู้ร้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรสประกอบคำร้องของทั้งผู้ร้อง และคู่สมรสและต้องเตรียมเอกสารเตามข้างต้น

บุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ (รวมถึงบุตรบุญธรรม) ให้ผู้ร้องแสดงสำเนาสูติบัตรหรือเอกสารรับรองความเป็นบุตร และต้องเตรียมเอกสารตามข้อ 1 - 3 และ ข้อ 7

ข้อมูลเพิ่มเติม

• คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตรา “Non O-X” เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว สามารถขอเปลี่ยนจาก Non O-X เป็นประเภท/รหัสอื่นได้ โดยติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้ การตรวจลงตรา Non O-X ของคู่สมรสติดตามและบุตรจะสิ้นสุดลงและถูกเปลี่ยนไปตามผู้ขอหลัก อย่างไรก็ดี คู่สมรสสามารถแยกขอรับ Non O-X ให้ตัวเองได้ หากมีคุณสมบัติและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์

• คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทอื่นที่ไม่ใช่ Non O-X รวมถึงคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา และเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นประเภท Non O-X ได้หากมีคุณสมบัติและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ โดยติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

• ในกรณี่คุณสมบัติไม่ครบสำหรับการขอรับการตรวจลงตรา “ O – X ” คู่สมรสติดตามและบุตรสามารถขอับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวรหัสอื่นๆ ได้ เช่น รหัส “O” หรือ “O – A” (Long Stay) หรือ “ED”

• การอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยจะสิ้นสุดลงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจพบกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
   1. เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี มีเงินในบัญชีเงินฝากน้อยกว่า 3,000,000 บาท
   2. ในปีที่ 2 มีเงินฝากในบัญชีเหลือน้อยกว่า 1,500,000 บาท และค่าใช้จ่ายไม่ได้เป็นไปเพื่อการใช้จ่ายในราชอาณาจักร เช่น สำหรับการรักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะ และการศึกษาของบุตร
   3. ไม่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ
   4. ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
   5. มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
   6. กรณีคู่สมรส/บุตร ที่ใช้สิทธิติดตาม หากภายหลังการอนุญาตของผู้มีสิทธิหลักสิ้นสุดลงการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของผู้ติดตามย่อมสิ้นสุดลงด้วย
   7. หากบุตรอายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์