กรมการกงสุลผนึกกำลังมูลนิธิปวีณาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานในเมียนมา

กรมการกงสุลผนึกกำลังมูลนิธิปวีณาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานในเมียนมา

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 มิ.ย. 2566

| 749 view
กรมการกงสุลผนึกกำลังมูลนิธิปวีณาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานในเมียนมา

เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2566 นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมการกงสุลและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมด้วยนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเมืองท่าขี้เหล็ก เมียนมา เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ถูกหลอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์และกลุ่มที่ตั้งใจลักลอบเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติเพื่อไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในสถานบันเทิง โรงแรมและคาสิโน และเจ้าหน้าที่ประสานงานเว็บพนันออนไลน์หรือคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ทางเหนือของเมียนมา ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย อาทิ เมืองป๊อก เมืองลา เมืองเล้าไก่ เมืองปางซางและมูเซ เนื่องจากที่ผ่านมา มีคนไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่ได้รับเงินเดือนตามโฆษณา และถูกบังคับต่างๆ จึงประสบความทุกข์ยากและขอรับความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย ผลการแก้ไขปัญหาเชิงรุกสรุปได้ดังนี้

1. การประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เชียงราย กองกำลังผาเมือง สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย -เมียนมา (Township Border Committee -TBC) ฝ่ายไทย โดยสรุป ดังนี้

1.1 ความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย การประชุมครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างความต่อเนื่องจากผลการประชุมไตรภาคี (ไทย- จีน-เมียนมา) ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เพื่อร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เสริมสร้างกลไกในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สำหรับนำไปใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

1.2 การจัดตั้งคณะทำงานหน่วยงานเกี่ยวข้องและการพิจารณาข้อเสนอการจัดระเบียบคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ

1.3 การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อป้องปรามคนไทยมิให้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานในเมียนมาตั้งแต่ต้นทาง

1.4 การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้กระทำผิดทั้งของไทยและเมียนมาอย่างจริงจัง
 
1.5 ในระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อช่วยสนับสนุนแนวทางหรือกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ปี 2562 พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองปี 2522 และพระราชบัญยัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 2551

1.6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประสานงานเพื่อความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับกระบวนการรับส่งตัวผู้ตกทุกข์และอาจเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อเข้ากระบวนการตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) ของการค้ามนุษย์
 
2. การหารือกับผู้แทนฝ่ายเมียนมา ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็ก ตำรวจท่าขี้เหล็ก ตรวจคนเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก และผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย -เมียนมา (Township Border Committee -TBC) ฝ่ายเมียนมา โดยสรุปผลดังนี้

2.1 ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายเมียนมาที่ได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่ตกทุกข์ในเมียนมาสามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยปลอดภัยมาโดยตลอด

2.2 ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะรับตัวคนไทยภายหลังจากที่บุคคลเหล่านั้นผ่านกระบวนการตามกฎหมายของเมียนมาเสร็จแล้ว

2.3 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการปรับปรุงช่องทางการติดต่อประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยจากพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเขตว้า ทางตอนเหนือของเมียนมาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

2.4 ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเมียนมาพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพิ่มเติม โดยเฉพาะตามแนวแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่เป็นเส้นทางที่มักถูกใช้ในการลักลอบข้ามประเทศ เพื่อสกัดและจับกุมขบวนการนำคนไทยลักลอบเดินทางข้ามมายังฝั่งเมียนมา
 
2.5 ฝ่ายไทย โดยมูลนิธิปวีณาฯ ได้นำส่งข้อมูลคนไทยจำนวน 27 รายที่ตกทุกข์อยู่เมียนมา เพื่อขอให้ฝ่ายเมียนมาเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมารับที่จะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ตามที่ฝ่ายไทยร้องขอ
 
3. การขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่กงสุล สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง เข้าเยี่ยมคนไทยในเรือนจำที่เชียงตุง ซึ่งฝ่ายเมียนมาขอให้มีหนังสือแจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา
 
4. ปัจจุบันมีคนไทยที่ตกทุกข์ในเมียนมาและติดต่อขอรับความช่วยเหลือ จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จำนวน 140 ราย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้เร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ