กงสุลลุยแผนเชิงรุก ดูแลคนไทยในต่างแดน

กงสุลลุยแผนเชิงรุก ดูแลคนไทยในต่างแดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,896 view

  มีเหตุผลมากมายร้อยแปดที่จำนวนคนไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาแต่การโกอินเตอร์ของคนไทยจำนวนมากโดยไม่รู้ข้อบังคับ สิทธิ และแม้แต่การเอาตัวรอดเมื่อเกิดปัญหา จึงเป็นภารกิจที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปดูแล
          "เพราะกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างแดน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อย่างไม่รู้สิทธิ์และถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่การเข้าถึงปัญหา รวมถึงข้อผิดพลาดจะทางกฎหมายหรือกรณีส่วนตัว ล้วนเป็นประเด็นที่กระทรวงต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และเครือข่ายคนไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงปัญหา และสามารถส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนไทยในต่างประเทศได้"
          นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดสัมมนาระหว่างลงพื้นที่พบเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองสตุ๊ตการ์ต สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก รวมถึงชุมชนคนไทยในยุโรปที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์
          พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพ นำโดย นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล นายชาญชัย โชติเวทธำรง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกุล นายกิตติพงศ์ บรรลือสินธุ์ นักการทูตชำนาญการพิเศษ และ นายอรรณพ ศูนย์จันทร์ นักการทูตชำนาญการ
          ร่วมไขข้อข้องใจ และแนะนำทางออกที่ถูกต้องของสารพัดปัญหา ทั้งงานนิติกร การติดต่อหน่วยงานราชการ การยื่นขอหรือสละสิทธิ์ และสุขภาพทางจิต
          รองอธิบดีประสิทธิพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 1 ล้านคนพำนักถาวรอยู่ในต่างประเทศ และราวๆ 1.5 ล้านคน เดินทางระหว่างประเทศในแต่ละปี
          ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงซึ่งกรมการกงสุลเห็นควรว่าจำเป็นต้องมีการคุ้มครองดูแล ผ่านนโยบายเด่นชัดหลักๆ 2 แนวทาง

          หนึ่งเป็นแผนเชิงรุก ที่เราจะไม่รอให้คนไทยต้องประสบปัญหาแล้วมาแก้ไขทีหลัง แต่จะเป็นการเตรียมความพร้อม ให้ข้อมูล ให้ความรู้ เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จุดนี้ถือเป็นนโยบาย "ต้นน้ำ" สำหรับรับมือกับปัญหาก่อนถึงตัว
          ส่วนที่สอง คือ แผนให้ความคุ้มครอง กรมการกงสุลได้ร่วมมือกับหน่วยงานเฉพาะทาง และจัดตั้งเป็นทีม "สหวิชาชีพ" เพื่อตอบโจทย์ชีวิตหลากหลายของคนไทยต่างแดนให้ได้มากที่สุด หากมีปัญหาครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน หรือการปรับตัว เราก็อาศัยความช่วยเหลือจากกรมสุขภาพจิต ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิ การเรียกร้อง ก็ต้องเป็นฝ่ายอัยการสูงสุด เรื่องทะเบียนราษฎร เป็นของกรมการปกครอง และกรณีแรงงาน ก็ต้องกรมการจัดหางาน

          เรียกได้ว่าเป็นนโยบายแบบบูรณาการ ที่สำคัญเราไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่หน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับองค์กรเอกชนและเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ
          โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ เตือนภัย และให้ข้อมูล เป็นขั้นตอนการทำงานแบบเบ็ดเสร็จเพื่อคุ้มครองคนไทย ไม่ให้ถูกหลอก ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ซึ่งอาจลุกลามไปถึงการใช้คนไทยเป็นเหยื่อขนส่งยาเสพติด และกระบวนการผิดกฎหมายด้านอื่นๆ
          หลังจากพบปะชุมชนคนไทยในยุโรปแล้ว ปรากฏว่าปัญหาจริงๆที่เกิดกับคนไทยกลุ่มนี้มีมากกว่าที่เราคาดคิด ทั้งเรื่องการสละสัญชาติ สิทธิของบุตรซึ่งเป็นลูกครึ่ง ปัญหาของลูกติดแม่ ความลำบากในการใช้ชีวิตต่างแดน
          แต่อีกปัญหาน่าสนใจ คือ การย้ายถิ่นฐานกลับเมืองไทย ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ผู้หญิงไทยหลายคนที่แต่งงานกับสามีต่างชาติมานานจนเข้าสู่วัยเกษียณ เริ่มคิดที่จะกลับบ้าน เพราะเงินบำนาญของสามีหรือตนเอง มีไม่มากพอสำหรับใช้ชีวิต ในยุโรปที่ค่าครองชีพสูง
          ส่วนใหญ่เลยอยากนำเงินกลับมาปักหลักที่พื้นเพดั้งเดิม แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการขอคืนสัญชาติ การขอวีซ่าอยู่ยาวให้สามี รวมถึงสิทธิการซื้อที่ดิน การสร้างบ้าน และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย ในปัจจุบัน
          จากผลสำรวจผู้ประสบปัญหาของกระทรวงการต่างประเทศ ปีๆ หนึ่งจะมีคนไทยตกทุกข์ได้ยากมากถึง 4,500 คน แต่เมื่อปี 2554 ที่โครงการสหวิชาชีพเปิดตัวก็ได้ผลลัพธ์ในทิศทางที่ดีขึ้นทันที เปรียบเทียบจากรายงานปัญหาในปีที่ผ่านมาซึ่งลดลง เยอะมาก จนเหลือไม่ถึง 2,000 คน
          "ผมว่าแนวทางเชิงรุกที่เราลุยลงพื้นที่ นำทีมผู้เชี่ยวชาญไปทำความเข้าใจและให้ความรู้ เป็นแผนดำเนินงานที่ตอบสนองตรงจุดและได้ผลดีที่สุด การได้รับฟังข้อเสนอและปัญหาจริงของชุมชนที่นี่ ยังมีความต้องการอยากให้หน่วยงานราชการสนับสนุนงบประชุม ทุนรวมกลุ่ม และกิจกรรมความร่วมมือของเครือข่ายคนไทย เพื่อให้มีศักยภาพในการประสานงานและดูแลพี่น้องคนไทยในเบื้องต้น ผมว่าจุดนี้มีความสำคัญที่เราควรสนับสนุน เพราะเขาเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแลคนไทยในส่วนที่ราชการเข้าไม่ถึง" รองอธิบดีกล่าว
          พร้อมย้ำว่า กระทรวงต่างประเทศเองก็มีนโยบายจัดสรรงบฯ สร้างเสริมความเข้มแข็งของคนไทยในต่างแดนอยู่แล้ว
          "หากเราร่วมมือเดินหน้าไปพร้อมๆ กับชุมชนและเครือข่ายชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างประเทศก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ"
          ด้านรองปลัดณัฏฐวุฒิกล่าวเสริมว่า การได้พูดคุยกับคนไทย ในเยอรมนี ประเด็นลูกติดแม่ที่ตามมาอยู่ด้วยกันกว่า 15 ปี ตอนนี้อายุ 24 ปีแล้ว แต่มีปัญหาต้องการกลับไปหาพ่อที่ไทย เพราะปรับตัว ไม่ได้ เรียนก็ไม่จบ ไม่มีเงิน ไม่มีวีซ่า และไม่อยากบอกผู้ปกครอง
          กรณีนี้สามารถปรึกษากับสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ได้ ซึ่งเด็กบรรลุนิติภาวะถือเป็นผู้ใหญ่ มีสิทธิ์เลือกที่จะอยู่กับพ่อหรือแม่ได้เอง
          แต่ทางที่ดีควรตกลงกันก่อน จะได้ไม่ติดค้างจนกลายเป็นปัญหา หรือเหมาว่ากระทรวงต่างประเทศสนับสนุนให้เด็กหนีออกจากบ้าน
          ส่วนเรื่องเงิน สามารถยืมเงินทดรองราชการได้ แต่จะต้องลงนามในเอกสารรับสภาพหนี้ และต้องใช้คืนภายใน 2 ปี
          หากไม่ชำระ ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ เนื่องจากเงินนี้เป็นภาษีประชาชน ทางกระทรวงต่างประเทศแค่ให้ผู้เดือดร้อนยืมใช้ในช่วงจำเป็นเท่านั้น
          ในส่วนของผู้ขอติดตามคู่สมรสคนไทยเข้าราชอาณาจักร หากยื่นขอวีซ่าพำนักระยะยาวแบบโอ-เอ (Non-Immigrant Visa "O-A" Long Stay) ต้องแนบเอกสารเงินฝากไม่ต่ำกว่า 65,000 บาทต่อเดือน หรือฝากประจำ 800,000 บาทต่อปี
          แต่คู่สมรสที่เป็นต่างชาติจะต้องต่อระยะพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่ออยู่ครบ 3 เดือน แล้วจึงขอยืดอายุวีซ่าเป็นปีต่อปี
          นอกจากนี้ กรมการกงสุล ยังได้ขยายอำนาจออกบัตรประชาชนแก่สถานทูตไทย และกงสุลใหญ่ ซึ่งกำลังรอทางกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทยในต่างแดนที่ต้องใช้บัตรประชาชนแสดงสิทธิ์สำหรับยื่นเรื่อง รวมถึงทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลา เสียเงิน เดินทางกลับบ้าน และในอนาคตจะมีการออกวีซ่าแบบสติ๊กเกอร์ เพื่อยกระดับการออกใบอนุญาตเข้าเมืองของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

          ส่วนอีกกรณีที่ถามกันมาก คือ การสละสัญชาติไทยเมื่อย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ รวมถึงการขอคืนสัญชาติเดิม
          นายชาญชัยกล่าวไขข้อข้องใจว่า จริงๆ แล้ว คนไทยสามารถถือสองสัญชาติได้ แต่เมื่อแต่งงานกับคนต่างด้าว ตรงนี้เป็นเรื่องของกฎหมายในประเทศของคู่สามีหรือภรรยา ซึ่งเยอรมนีกำหนดให้คนไทยเลือกสัญชาติ หากอยากอยู่ที่นั่น ก็ต้องถือสัญชาติเยอรมัน ตรงนี้คนเข้าใจผิดว่ากฎหมายไทยบีบบังคับให้ต้องสละสัญชาติ
          กรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต แยกทาง หรืออยากย้ายถิ่นกลับไทย หญิงหรือชายที่เคยสละสัญชาติแล้ว สามารถขอคืน หรือแปลงเป็นสัญชาติไทยได้ และกฎหมายไทยไม่ได้บังคับให้ผู้แปลงต้องสละสัญชาติเดิม คนไทยที่เคยเปลี่ยนไปถือสัญชาติต่างด้าว ก็ถือสองสัญชาติได้
          "ส่วนที่หลายๆ คนบ่นให้ฟังว่ามีแต่ปัญหาซ้ำซาก และนโยบายรัฐไม่เคยเปลี่ยนนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนระหว่างคนไทย กับหน่วยงานในท้องที่ จะด้วยคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือเข้าใจผิด ทีมสหวิชาชีพเกิดขึ้นก็เพื่อประสานความเข้าใจ เป็นสื่อกลาง รับเรื่องร้องทุกข์ ให้ความรู้ รวมถึงชี้แจงข้อเท็จจริง"
          "คนไทยในต่างประเทศจะได้รู้สิทธิ์ และขอบเขตการใช้สิทธิ์ เพื่อให้ชีวิตที่ต้องอยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง มีความสุขและได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นๆ"

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ