ความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรม

ความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 มิ.ย. 2567

| 51,486 view
ความร่วมมือระหว่างประเทศ

             เจ้าหน้าที่ในกระบวนการทางกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น ศาล ตำรวจ อัยการ มีอำนาจเพียงภายในประเทศ ในกรณีที่ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาในต่างประเทศ จะต้องร้องขอเพื่ออาศัยอำนาจหน่วยงานของประเทศนั้น ๆ ดำเนินการแทน จะกระทำเองโดยตรงไม่ได้ เช่น การส่งประเด็นไปสอบสวนสืบพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ในต่างประเทศ การส่งคำฟ้อง หมายเรียก ฯลฯ หนังสือร้องขอต้องส่งโดย
วิถีทางการทูต และต้องระบุว่าจะให้ความช่วยเหลือตามหลักปฏิบัติต่างตอบแทนในทำนองเดียวกันเมื่อถูกร้องขอ แต่หากประเทศไทยมีความตกลงว่าด้วยร่วมมือทางแพ่งหรือทางอาญากับประเทศใดไว้ การดำเนินความร่วมมือก็ให้เป็นไปตามความตกลงนั้น ๆ

ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 34 ให้อำนาจศาลไว้ว่า "ถ้าจะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาทั้งเรื่อง หรือแต่บางส่วนโดยอาศัยหรือโดยร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ในเมืองต่างประเทศเมื่อไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่มีข้อกฎหมายบัญญัติไว้สำหรับเรื่องนี้นั้นให้ศาลปฏิบัติตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ"  ดั้งนั้น เมื่อกฎหมายไทยให้อำนาจศาลส่งเรื่องทางแพ่งขอความร่วมมือจากศาลต่างประเทศเพื่อดำเนินการแทน การดำเนินการของศาลต่างประเทศในเรื่องดังกล่าวย่อมมีผลเสมือนศาลไทยดำเนินการเอง ปัจจุบันประเทศไทยทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางศาล (Agreement on Judicial Co-Operation) ในคดีแพ่งกับ 6 ประเทศ คือ เกาหลี อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย สเปน เวียดนาม การดำเนินความร่วมมือก็จะต้องเป็นไปตามความตกลงดังกล่าว สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ไทยไม่มีความตกลงในเรื่องนี้ ถ้าศาลไทยจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาในต่างประเทศศาลไทยก็จะปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น  เท่าที่ผ่านมา ศาลไทยจะขอความช่วยเหลือจากศาลต่างประเทศในเรื่องต่อไปนี้ อาทิ การให้จำเลยซึ่งอยู่ในต่างประเทศทราบถึงการถูกฟ้องและวันนัด พิจารณา หรือการส่งสำเนาคำฟ้อง และหมายเรียกให้จำเลย การส่งประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศ การให้จำเลยซึ่งอยู่ในต่างประเทศทราบถึงการออกคำบังคับ ฯลฯ

วิธีการขอความร่วมมือให้ศาลต่างประเทศดำเนินกระบวนการพิจารณา

ในกรณีที่ไม่มีความตกลงร่วมมือทางแพ่งระหว่างไทยกับประเทศนั้นๆ การดำเนินการต้องผ่านช่องทางการฑูต (Diplomatic Channel)
กล่าวคือ ในทางปฏิบัติเมื่อศาลไทยมีคำสั่งอนุญาตให้ขอความช่วยเหลือจากศาลต่างประเทศ ศาลจะส่งหนังสือร้องขอและเอกสารทั้งหมด
พร้อมคำแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอให้กระทรวงยุติธรรมแจ้งกระทรวงการต่างประเทศจัดส่ง
ให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ดำเนินการต่อไป

เมื่อสถานทูต/สถานกงสุลได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องดังกล่าว ให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลแจ้งกระทรวงการต่างประเทศนั้น เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายในประเทศนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้นจะแจ้งผลการดำเนินการให้สถานทูต/สถานกงสุลทราบ หากเป็นกรณีส่งสำเนาคำฟ้องหรือหมายเรียก ให้จำเลยหรือผู้รับลงชื่อ
ในเอกสารตอบรับมาให้ เพื่อสถานทูตหรือสถานกงสุลแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมค่าใช่จ่าย

เอกสารที่ใช้สำหรับมอบหมายให้ศาลดำเนินการ

กระทรวงยุติธรรมแจ้งว่าตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุว่า การที่ศาลต่างประเทศร้องขอให้ศาลไทยดำเนินการพิจารณาโดยผ่านขั้นตอนทางการทูตนั้น หนังสือร้องขอควรมีข้อความประกอบด้วย

  - ระบุให้รู้ว่าเป็นคดีแพ่ง
  - ระบุให้รู้ว่าเป็นคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
  - มีความจำเป็นต้องสืบพยานหรือจะขอให้ศาลดำเนินการให้อย่างใดบ้าง
  - ชื่อและที่อยู่ของจำเลย หรือพยาน ที่ขอให้ดำเนินการ
  - ถ้ามีผู้แทนอยู่ในต่างประเทศให้ระบุชื่อ ที่อยู่หรือสำนักงานของผู้แทนนั้น
  - แจ้งให้ทราบว่าจะจัดการอย่างใดกับเงินค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมศาล
  - ระบุพันธะกรณีในการช่วยเหลือต่อศาลไทยในทำนองเดียวกัน

 

ทั้งนี้หนังสือร้องขอและเอกสารประกอบหนังสือร้องขอกระทรวงยุติธรรมต้องการใช้ต้นฉบับจำนวน 2 ชุด
 
ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาขอและ
ให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ

ประเทศที่มีความตกลงหรือมีสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty-MLAT)
กับไทย 15 ประเทศ คือ

ประเทศ มีผลบังคับใช้
สหรัฐอเมริกา 10 มิถุนายน    2536 
แคนาดา   3 ตุลาคม     2537 
สหราชอาณาจักร 10 กันยายน    2540 
ฝรั่งเศส   3 มิถุนายน    2543 
นอร์เวย์ 22 กันยายน    2543 
สาธารณรัฐเกาหลี   6 เมษายน    2548 
สาธารณรัฐอินเดีย   7 มิถุนายน    2547
สาธารณรัฐโปแลนด์   4 ตุลาคม     2552
สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา 30 พฤษภาคม 2555
สาธารณรัฐเปรู   3 ตุลาคม     2548
ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม 23 กรกฎาคม  2553
ออสเตรเลีย 18 มิถุนายน   2552
อาเซียน 31 มกราคม    2546 (สำหรับไทย)
สาธารณรัฐประชาชนจีน 20 กุมภาพันธ์ 2548
ยูเครน 9   สิงหาคม   2562

 

ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศกับประเทศทั้ง 15 นี้ สามารถดำเนินการระหว่างผู้ประสานงานกลางฝ่ายไทยกับผู้ประสานงานกลางหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของประเทศนั้นๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านช่องทางการทูตก็ได้ แต่หากไม่มีความตกลงร่วมมือทางอาญาจะต้องดำเนินการผ่านช่องทางการฑูตของทั้งสองฝ่าย และระบุหลักการต่างตอบแทนในคำร้องขอความร่วมมือด้วยเสมอ
 
ปัจจุบันกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานระหว่างสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลต่างๆ
กับสำนักงานอัยการสูงสุดในเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือทางอาญา และกับสำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือทางแพ่ง แต่หาก
ประเทศนั้นๆ มีความตกลงร่วมมือทางแพ่งหรืออาญากับไทย การดำเนินความร่วมมือก็เป็นไปตามที่ระบุในความตกลงนั้น ๆ