กรมการกงสุลจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานทางทะเล ในส่วนที่เกี่ยวกับกรมการกงสุล

กรมการกงสุลจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานทางทะเล ในส่วนที่เกี่ยวกับกรมการกงสุล

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,440 view

---- กรมการกงสุลจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานทางทะเล ในส่วนที่เกี่ยวกับกรมการกงสุล ---

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานทางทะเลในส่วนที่เกี่ยวกับกรมการกงสุล ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมกรมการกงสุล โดยมีนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล เป็นประธานการประชุม และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสมาคมคนประจำเรือ ผู้แทนสมาคมเจ้าของเรือ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวม 14 หน่วยงาน เข้าร่วมที่ประชุมได้หารือแนวทางการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
กับการคุ้มครองคนประจำเรือชาวไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับบทแก้ไขอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labour Convention - MLC) ค.ศ. 2018 ส่วนข้อบังคับ 2.5 การส่งตัวกลับ ข้อแนะนำ บี 2.5.1 ที่ระบุว่า “สิทธิในการได้รับการส่งตัวกลับไม่สิ้นสุดลงหากเกิดกรณีการกระทำอันเป็นโจรสลัด หรือการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ” โดยกระทรวงการต่างประเทศจะออกประกาศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องเหตุที่ให้สิทธิคนประจำเรือเดินทางกลับโดยเจ้าของเรือออกค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยส่งกลับคนประจำเรือชาวไทยในกรณีดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่เจ้าของเรือไม่รับผิดชอบ
อนึ่ง ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 รวมทั้งออก พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เพื่อรองรับการให้สัตยาบันดังกล่าวแล้ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกกฎหมายลำดับรอง
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาครัฐสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ออกกฎหมายลำดับรองแล้ว 2 ฉบับ เพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ฯ และประกาศกรมการกงสุลเรื่องหลักเกณฑ์ในการดำเนินการส่งคนประจำเรือกลับในกรณีที่เจ้าของเรือไม่ยอมส่งกลับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ