ข้อชี้แจงเกี่ยวกับระบบ e-Visa ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 หัวข้อข่าว “ททท.ชี้ “อี-วีซ่า” เจ้าปัญหา ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยไม่ถึง 5 ล้านคน”

ข้อชี้แจงเกี่ยวกับระบบ e-Visa ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 หัวข้อข่าว “ททท.ชี้ “อี-วีซ่า” เจ้าปัญหา ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยไม่ถึง 5 ล้านคน”

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ค. 2566

| 3,197 view

ข้อชี้แจงเกี่ยวกับระบบ e-Visa ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 หัวข้อข่าว “ททท.ชี้ “อี-วีซ่า” เจ้าปัญหา ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยไม่ถึง 5 ล้านคน”

 

1. ตามที่ปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 รวมทั้งเว็บไซต์ออนไลน์ไทยรัฐ หัวข้อ “ททท.ชี้ “อี-วีซ่า” เจ้าปัญหา ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยไม่ถึง 5 ล้านคน” กรมการกงสุลขอชี้แจงว่า ข้อมูลตามข่าวดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยให้ข้อมูลว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่มีข้อจำกัดในการออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางผ่านบริษัททัวร์ได้เพียง เดือนละ 84,000 คน เนื่องจากเป็นระบบ e-Visa ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากระบบ ออกแบบมาให้รองรับได้ปีละ 5-6 ล้านคำร้อง จึงสามารถรองรับได้ 500,000 คำร้องต่อเดือน ซึ่งสามารถรองรับแผนการนำนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน ของ ททท. ได้อย่างแน่นอน โดยต่อประเด็นข่าวที่ได้ออกมา นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียแปซิฟิกใต้ ททท. ยังได้ส่งข้อความมาขอโทษและยืนยันว่ามิได้ให้ข่าวในเชิงลบและปัญหาของระบบ e-Visa โดยให้ข้อมูลว่าจะร่วมมือกับทางกรมการกงสุลมากขึ้น เนื่องจากเป็นห่วงเป้าหมาย 5 ล้านคนของ ททท. เกี่ยวกับเรื่อง capacity ของระบบจึงไม่เป็นประเด็นอย่างแน่นอน เนื่องจากระบบปัจจุบันรองรับได้ 5-6 ล้านคน ในขณะที่ระบบ e-Visa ระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการในปีหน้าจะรองรับได้ปีละ 15 ล้านคน

2. กระทรวงการต่างประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาทของการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 อธิบดีกรมการกงสุลได้พบหารือกับผู้ว่าการ ททท. และคณะเกี่ยวกับแนวทางการรองรับนักท่องเที่ยวจีน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรับนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน จะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลในมิติความมั่นคงผ่านระบบการคัดกรองการเข้าเมืองที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนสามารถเข้าไทยได้โดยการขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่หรือขอรับการตรวจลงตราณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa-on-Arrival :VOA)

3. ระบบการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) เป็นการพัฒนาระบบการตรวจลงตราของไทยให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการให้บริการ/อำนวยความสะดวกแก่คนต่างชาติที่ประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองบุคคลเข้าประเทศ การลดขั้นตอนด้านเอกสาร การหลีกเลี่ยงการพบปะหรือสัมผัสระหว่างบุคคล รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ

   3.1 นักท่องเที่ยวสามารถขอรับการตรวจลงตราด้วยตนเองหรือผ่านบริษัทนำเที่ยวด้วยระบบ e-Visa ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยไม่ต้องเดินทางมายัง สอท. และ สกญ. จึงช่วยอำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย และภาระสำหรับนักท่องเที่ยว

   3.2 ระบบ e-Visa มีความพร้อมในการรองรับปริมาณคำร้องจำนวนมาก (5 ล้านคนต่อปีในระบบปัจจุบัน /15 ล้านคนต่อปีในอนาคต) โดยระบบฯ ไม่ได้จำกัดปริมาณคำร้องต่อวัน นักท่องเที่ยวจึงสามารถยื่นคำร้องได้อย่างต่อเนื่อง (ระบบปัจจุบันสามารถยื่นคำร้องได้พร้อมกันในหลักพันคำร้องและในอนาคตจะรองรับการยื่นคำร้องได้พร้อมกันในหลักหมื่นคำร้อง)

   3.3 นักท่องเที่ยวเพียงแต่ต้องอัพโหลดเอกสารเข้าระบบฯ ให้ถูกต้องและครบถ้วน โดยเอกสารประกอบการขอตรวจลงตราของไทย ก็เป็นเพียงเอกสารพื้นฐานซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับการขอรับ การตรวจลงตราไปยังประเทศอื่น ๆ ในโลก

   3.4 นอกจากนี้ ระบบ e-Visa กำลังพัฒนาสู่ระยะที่ 2 ซึ่งจะสามารถทำงานได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาจีน และมีระบบคัดกรอง รับคำร้อง และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ ระบบ e-Visa มิได้เป็นอุปสรรคต่อการรองรับนักท่องเที่ยว

4. กระทรวงการต่างประเทศมิได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมแต่ประการใด โดยบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะต้องอัพโหลดเอกสารพื้นฐานสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละคนให้ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้วตามกฎระเบียบ โดยที่ผ่านมาบริษัทนำเที่ยวเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ต้องอัพโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และพยายามที่จะยื่นเอกสารเป็น Hard Copy แทน เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวมองว่า สะดวกกับพวกตนมากกว่า และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ซึ่งการมีข้อมูลครบถ้วนในระบบ e-Visa เป็นเรื่องสำคัญในการคัดกรองนักท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งสามารถช่วยป้องปรามแก้ไขปัญหาสำคัญๆ อาทิ การลักลอบเข้าเมืองแบบแอบแฝงหรือทัวร์ศูนย์เหรียญด้วย ในขณะที่การคัดกรองเป็นไปตามความถูกต้องของเอกสารและต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งกรอบที่ตั้งไว้ไม่เกิน 15 วันทำการ เป็นหลักการทำงานทั่วไปของการคัดกรองตรวจลงตราสากล ในขณะที่เอกสารที่ต้องอัพโหลด ได้แก่ (1) สำเนาหนังสือเดินทาง หน้า data page และหน้าที่มีตราประทับเข้า-ออกเมือง ภายใน 1 ปี (2) หลักฐานการจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน (3) หลักฐานทางการเงิน ก็เป็นแนวปฏิบัติสากลในการขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวเช่นกัน

5. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ททท. จะช่วยทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับบริษัทนำเที่ยวตามแนวทางที่ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและคำนึงถึงความมั่นคงอย่างสมดุล

-------------------------------------------

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

23 พฤษภาคม 2566

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ