เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล ได้เปิดการประชุมกงสุลโ,กผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ณ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 18 และ 23-24 พ.ย. 63 โดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา กลุ่มภูมิภาคอเมริกาและตะวันออกกลาง กลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มเอเชียตะวันออก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านกงสุลจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย 96 แห่งทั่วโลกเข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อซักซ้อมความเข้าใจมาตรการผ่อนคลายด้านวีว่าประเภทต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเดินทางเข้าประเทศไทยของกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากระบบ COE online (Certificate of Entry : เอกสารการเดินทางเข้าประเทศ) ซึ่งกรมการกงสุลได้พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้เดินทาง สามารถลดการสัมผัส Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งลดภาระของเจ้าหน้าที่กงสุลในการปฏิบัติภารกิจอำนวยความสะดวกนำคนไทยและคนต่างชาติไปประเทศไทย นอกจากนี้ กรมการกงสุลได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับสายการบินพาณิชย์กว่า 30 สายการบิน ในการจัดเที่ยงบินกึ่งพาณิชย์ Semi – commercial flight เพื่อเพิ่มช่องทางรองรับการเดินทางของชาวไทยและชาวต่างประเทศในการเดินทางเข้าประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 63
ในขณะที่การผ่อนคลายด้านวีซ่าครอบคลุมประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non Immigrant) ซึ่งรองรับกลุ่มชาวต่างชาติที่จะเข้ามาพำนักในประเทศไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ประเภทพำนักในไทยได้ 1 ปี (ขยายเวลาต่อได้อีก 1 ปี) และประเภทพำนักในไทยได้ 5 ปี (ขยายเวลาต่อได้อีก 5 ปี) รวมถึงวีซ่าประเภทผู้ติดต่อหรือดำเนินธุรกิจในไทย คนทำงาน ท่องเที่ยว และอื่น ๆ ที่อำนวยความสะดวกการเดินทางของชาวต่างชาติ โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการด้านสาธารณสุขที่กำหนด
นับตั้งแต่ 4 เมษายน 2563 กรมการกงสุล ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ได้ดำเนินการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกนำคนไทยจากต่างประเทศกลับประเทศไทยแล้วกว่า 1.4 แสนคน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ และได้ขยายสู่ภารกิจการอำนวยความสะดวกเพื่อนำชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักลงทุนเข้าประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุน รวมทั้งการนำบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนักธุรกิจ นักลงทุน ที่มีศักยภาพเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคโควิด
อนึ่ง อธิบดีกรมการกงสุลได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่กงสุลในต่างประเทศที่เปรียบเหมือน “ข้อต่อ” สำคัญที่เชื่อมภารกิจนำคนเข้าประเทศ